โรคไข้เลือดออก ไข้เลือดออก (Dengue hemorrhagic fever DHF) เป็นโรคติดเชื้อซึ่งมีสาเหตุมาจากไวรัสเดงกี (Dengue virus) โดยมียุงลายบ้านเป็นพาหะนำโรค อาการของโรคนี้จะคล้ายคลึงกับโรคไข้หวัดในช่วงแรก (แต่มักจะไม่ค่อยมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล หรือไอมากอย่างผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัด) จึงทำให้ผู้ป่วยเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ว่าตนเป็นเพียงโรคไข้หวัดและทำให้ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่แรก ส่วนอาการและความรุนแรงของโรคก็มีหลายระดับตั้งแต่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยไปจนถึงเกิดภาวะช็อกซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิต (ความรุนแรงของการติดเชื้อขึ้นอยู่กับอายุ ภาวะภูมิคุ้มกัน และความรุนแรงของเชื้อไวรัส)
โรคนี้เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากโรคหนึ่ง มักพบการระบาดในช่วงฤดูฝนซึ่งเป็นช่วงที่มียุงลายชุกชุม จากสถิติในปี พ.ศ. 2556 ของสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่ามีผู้ป่วยจำนวน 154,444 ราย (คิดเป็นอัตราป่วย 241.03 ต่อประชากร 100,000 ราย) และมีจำนวนผู้ป่วยเสียชีวิตจำนวน 136 ราย (คิดเป็นอัตราเสียชีวิต 0.21 ต่อประชากร 100,000 ราย) ส่วนอัตราการเสียชีวิตคิดเป็น 0.09% สำหรับสัดส่วนของผู้ป่วยจำแนกตามกลุ่มอายุ พบว่าส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 15-24 ปี 29.16% รองลงมา คือ กลุ่มอายุ 10-14 ปี 21.31% และกลุ่มอายุ 5-9 ปี 13.74% ตามลำดับ ส่วนกลุ่มอายุ 0-4 ปี และมากกว่า 25 ปี จนถึง 65 ปี เป็นช่วงอายุที่พบได้น้อยที่สุด (ในเด็กขวบปีแรกมักพบในช่วงอายุ 7-9 เดือน)
สาเหตุของโรคไข้เลือดออก เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 4 สายพันธุ์ ได้แก่ ชนิด 1, 2, 3 และ 4 (DEN-1, DEN-2, DEN-3, DEN-4) โดยมียุงลายบ้าน (Aedes aegypti) ตัวเมียเป็นพาหะนำโรค กล่าวคือ ยุงลายตัวเมียจะกัดและดูดเลือดของผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้เลือดออกก่อน (เชื้อไวรัสเดงกีในเลือดของผู้ป่วยจะเข้าไปฟักตัวและเพิ่มจำนวนในตัวยุงและเชื้อนี้สามารถมีชีวิตอยู่ในตัวยุงได้ตลอดอายุของยุง คือ ประมาณ 1-2 เดือน) แล้วจึงไปกัดคนที่อยู่ใกล้เคียงในรัศมีไม่เกิน 400 เมตร ซึ่งจะเป็นการแพร่เชื้อไปให้คนอื่น ๆ ต่อไป ยุงชนิดนี้เป็นยุงที่ออกหากิน (กัดคน) ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน (เดิมยุงลายนิยมออกหากินในเฉพาะเวลากลางวัน แต่ในระยะหลังพบว่ายุงลายมีการออกหากินในเวลากลางคืนด้วย) และชอบเพาะพันธุ์ตามแหล่งน้ำนิ่งในบริเวณบ้าน เช่น ตุ่มน้ำ โอ่งน้ำ แจกัน จานรองตู้กับข้าว กระป๋อง ฝากะลา ยางรถยนต์เก่า ๆ หลุมที่มีน้ำขัง เป็นต้น
สาเหตุโรคไข้เลือดออก
การติดเชื้อไวรัสเดงกีมีอาการแสดงได้ 3 แบบ คือ ไข้เดงกี (Denque Fever DF), ไข้เลือดออก หรือ ไข้เลือดออกเดงกี (Dengue hemorrhagic fever DHF) และไข้เลือดออกเดงกีที่ช็อก (Denque Shock Syndrome DSS)
โดยทั่วไปเมื่อได้รับเชื้อเดงกีเข้าไปครั้งแรก (สามารถติดเชื้อตั้งแต่อายุได้ 6 เดือนขึ้นไป) จะมีระยะฟักตัวของโรคจนเกิดอาการประมาณ 3-15 วัน (ส่วนมากคือ 5-7 วัน) ผู้ป่วยจะมีไข้สูงคล้ายไข้หวัดใหญ่อยู่ประมาณ 5-7 วัน และส่วนมากจะไม่มีอาการเลือดออก มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่อาจมีเลือดออกหรือมีอาการรุนแรง เรียกว่า ไข้เดงกี (Dengue fever DF) ต่อมาถ้าผู้ป่วยได้รับเชื้อซ้ำอีก ซึ่งอาจจะเป็นเชื้อเดงกีชนิดเดิมหรือคนละชนิดกับที่ได้รับครั้งแรกก็ได้ ก็จะมีระยะฟักตัวของโรคสั้นกว่าครั้งแรก และร่างกายจะเกิดปฏิกิริยาทำให้หลอดเลือดฝอยเปราะและเกล็ดเลือดต่ำ จึงทำให้พลาสมาหรือน้ำเลือดไหลซึมออกมาจากหลอดเลือด (ตรวจพบระดับฮีมาโตคริตสูง มีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอดและช่องท้อง) และมีเลือดออกได้ง่าย เป็นเหตุให้เกิดภาวะช็อก
เชื้อไวรัสเดงกีทั้ง 4 ชนิด จะมี Antigen ร่วมกันบางส่วน เมื่อเกิดการติดเชื้อชนิดหนึ่งจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันต่อเชื้ออีกชนิดหนึ่งด้วย แต่ภูมิที่เกิดจะอยู่ได้เพียง 6-12 เดือน ส่วนภูมิที่เกิดกับเชื้อที่ป่วยจะมีไปตลอดชีวิต เช่น หากเป็นไข้เลือดออกจากเชื้อ DEN-1 ผู้ป่วยจะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อนี้ไปตลอด แต่จะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อเดงกีชนิดอื่นเพียง 6-12 เดือน ดังนั้น คนเราจึงมีโอกาสติดเชื้อไข้เลือดออกได้หลายครั้ง แต่ส่วนใหญ่จะมีโอกาสเป็นไข้เลือดออกชนิดรุนแรงเพียงครั้งเดียว หรืออย่างมากไม่ควรเกิน 2 ครั้งในชั่วชีวิต ส่วนที่จะเป็นรุนแรงซ้ำ ๆ กันหลายครั้งนั้นนับว่ามีน้อยมาก
ส่วนใหญ่คนที่ได้รับเชื้อไวรัสเดงกีครั้งแรกมักจะไม่มีอาการหรืออาจมีเพียงไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก และเบื่ออาหารเท่านั้น แต่ในคนที่ติดเชื้อเป็นครั้งที่ 2 โดยเฉพาะเชื้อที่ต่างสายพันธุ์กับครั้งแรก ผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงจนเกิดภาวะช็อกได้ และโดยทั่วไปการติดเชื้อครั้งหลัง ๆ ที่ทำให้เกิดอาการรุนแรง มักจะเกิดขึ้นภายหลังการติดเชื้อครั้งแรกประมาณ 6 เดือน ถึง 5 ปี ด้วยเหตุนี้ไข้เลือดออกที่มีอาการรุนแรงจึงมักพบได้ในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี
แม้จะได้รับเชื้อเดงกี แต่คนที่จะแสดงอาการไข้มีเพียง 30-50% เท่านั้น ดังนั้น จึงมีคนจำนวนมากที่ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการแสดงใด ๆ
อาการของโรคไข้เลือดออก อาการของไข้เลือดออกแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 (ระยะไข้สูง) ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน 39-41 องศาเซลเซียส มีลักษณะเป็นไข้สูงลอยตลอดเวลา (รับประทานยาลดไข้ก็มักจะไม่ลด) หน้าแดง ตาแดง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว กระหายน้ำ ซึม มักมีอาการเบื่ออาหารและอาเจียนร่วมด้วยเสมอ อาจคลำพบตับโตและมีอาการกดเจ็บเล็กน้อย ในบางรายอาจมีอาการปวดท้องในบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือชายโครงด้านขวา หรือปวดท้องทั่วไป หรืออาจมีอาการท้องผูกหรือถ่ายเหลว ส่วนในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี อาจพบอาการไข้สูงร่วมกับอาการชักได้ อาการอื่น ๆ ที่พบได้ คือ อ่อนเพลีย ปวดกระบอกตา เวลากลอกตาจะปวดเพิ่มขึ้น ไม่กล้าสู้แสง ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดตามข้อ ปวดกระดูก ในช่วง 24-48 ชั่วโมงแรกของการเจ็บป่วย ผู้ป่วยอาจมีอาการผิวหนังแดงบริเวณใบหน้า ลำคอ และหน้าอก สามารถพบได้ประมาณ 50-80% ของผู้ป่วย เกิดจากการที่มีหลอดเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัว หากเอามือกดจะมีสีจางลง ไข้เลือดออกอาการ ในราววันที่ 3 ของไข้ (หลังอาการผิวหนังแดงหายไป) อาจมีผื่นปื้นแดงคล้ายหัด ไม่คัน ขึ้นตามแขนขา และลำตัว ซึ่งจะเป็นอยู่ประมาณ 2-3 วัน ผื่นชนิดนี้มักจะเริ่มขึ้นที่หลังมือ หลังเท้า แล้วกระจายไปยังแขนขา และลำตัวในภายหลัง แต่มักไม่พบที่บริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า ในบางรายอาจพบผื่นลักษณะเป็นจ้ำเลือดหรือจุดเลือดออกที่มีลักษณะเป็นจุดแดงเล็ก ๆ ร่วมด้วย (แต่บางครั้งอาจมีจ้ำเขียวด้วยก็ได้) ขึ้นตามหน้า แขน ขา ซอกรักแร้ และในช่องปาก (เพดานปาก กระพุ้งแก้ม และลิ้นไก่) ซึ่งเป็นตัวบอกว่าเกล็ดเลือดในร่างกายต่ำลง และบางรายอาจมีเลือดออกตามไรฟัน หรือเลือดกำเดาไหลได้ อาการไข้เลือดออกผื่นไข้เลือดออก ในระยะนี้ผู้ป่วยจะมีไข้สูงลอยอยู่ประมาณ 2-7 วัน ถ้าไม่มีอาการรุนแรง ส่วนมากไข้จะลดลงในวันที่ 5-7 แต่บางรายอาจมีไข้เกิน 7 วันก็ได้ แต่ถ้าเป็นมากก็จะปรากฏอาการระยะที่ 2 ส่วนมากผู้ที่เป็นไข้เลือดออกมักจะไม่ค่อยมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล หรือไอมากอย่างผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดหรือออกหัด แต่ในบางรายอาจมีอาการเจ็บคอ คอแดงเล็กน้อย หรือมีอาการไอบ้างเล็กน้อย การทดสอบทูร์นิเคต์ (Tourniquet test) ส่วนใหญ่จะให้ผลบวกตั้งแต่เริ่มมีไข้ได้ 2 วันเป็นต้นไป และในวงกลมเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว มักจะพบจุดเลือดออกมากกว่า 10-20 จุดเสมอ ในเด็กที่ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก มักพบว่ามีอาการในระยะเริ่มต้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งหากผู้ปกครองละเลยพาไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล ก็มีโอกาสที่ผู้ป่วยเด็กจะเสียชีวิตเนื่องจากได้รับการรักษาที่ล่าช้าได้ ระยะที่ 2 (ระยะช็อกและมีเลือดออก หรือ ระยะวิกฤติ) มักจะพบในไข้เลือดออกที่เกิดจากเชื้อเดงกีที่มีความรุนแรงขั้นที่ 3 และ 4 อาการจะเกิดขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 3-7 ของโรค ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่วิกฤติของโรค โดยอาการไข้จะเริ่มลดลง แต่ผู้ป่วยกลับมีอาการทรุดหนัก มีอาการปวดท้องและอาเจียนบ่อยขึ้น ซึมมากขึ้น กระสับกระส่าย เหงื่อออก ตัวเย็น ปลายมือเท้าเย็น ปัสสาวะออกน้อย ชีพจรเต้นเบาแต่เร็ว (อาจมากกว่า 120 ครั้ง/นาที) และมีความดันต่ำ ซึ่งเป็นอาการของภาวะช็อก (ภาวะนี้เกิดขึ้นเนื่องจากพลาสมาไหลซึมออกจากหลอดเลือด จึงทำให้ปริมาตรของเลือดลดลงมาก) ถ้าเป็นรุนแรง ผู้ป่วยอาจมีอาการไม่ค่อยรู้สึกตัว ตัวเย็นชืด ปากเขียว คลำชีพจรไม่ได้ และความดันตกจนวัดไม่ได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ภายใน 1-2 วัน ในบางรายอาจมีอาการปวดท้องมาก ท้องโตขึ้น หายใจหอบเหนื่อย เนื่องจากมีน้ำรั่วออกจากหลอดเลือดเข้าสู่ช่องเยื่อหุ้มปอดและช่องท้อง ผู้ป่วยอาจมีอาการเลือดออกตามผิวหนัง (มีจ้ำเขียวพรายย้ำขึ้น) เนื่องจากเส้นเลือดเปราะ หรืออาจมีเลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน อาเจียนเป็นเลือดสด ๆ หรือเป็นสีกาแฟ ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดสด ๆ หรือเป็นสีน้ำมันดิบ ๆ ถ้าเลือดออกมักจะทำให้เกิดภาวะช็อกรุนแรงและผู้ป่วยอาจเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว ในระยะนี้จะกินเวลาประมาณ 24-72 ชั่วโมง ถ้าหากผู้ป่วยสามารถผ่านช่วงวิกฤตินี้ไปได้ก็จะเข้าสู่ระยะที่ 3 ต่อไป ระยะที่ 3 (ระยะฟื้นตัว) ในรายที่มีภาวะช็อกไม่รุนแรง เมื่อผ่านวิกฤติช่วงระยะที่ 2 ไปแล้ว อาการก็จะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือแม้แต่ผู้ป่วยที่มีภาวะช็อกรุนแรง เมื่อได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงทีก็จะฟื้นตัวเข้าสู่สภาพปกติ โดยอาการที่แสดงว่าดีขึ้นนั้น คือ ผู้ป่วยจะเริ่มอยากรับประทานอาหาร แล้วอาการต่าง ๆ ก็จะกลับคืนสู่สภาพปกติ ชีพจรเต้นช้าลง ความดันโลหิตกลับมาสู่ปกติ ปัสสาวะออกมากขึ้น ในบางรายอาจพบผื่นซึ่งมีลักษณะจำเพาะขึ้นเป็นวงเล็ก ๆ สีขาว ๆ บนปื้นสีแดงตามผิวหนังอีกที (ดูคล้าย เกาะสีขาวในทะเลสีแดง ซึ่งเชื่อว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายกำลังจัดการกับเชื้อ) โดยเฉพาะที่ขาทั้งสองข้าง ผื่นชนิดนี้ส่วนมากจะไม่มีอาการคันและไม่เจ็บ แต่อาจพบอาการคันตามผิวหนังเพียงเล็กน้อยประมาณ 16-27% ของผู้ป่วย หากคันมากอาจใช้คาลาไมน์โลชั่นทาแก้คันได้ ผื่นมักจะหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ โดยไม่ค่อยทิ้งรอยดำหรือแผลเป็น แต่อาจพบอาการผิวหนังลอกเป็นขุยได้บ้างเล็กน้อย ทั้งนี้ ผื่นชนิดแรก (อาการผิวหนังเป็นปื้นแดง) และชนิดที่สอง (ผื่นเป็นวงขาวเป็นปื้นสีแดง) นี้ ไม่จำเป็นต้องพบคู่กัน อาการของไข้เลือดออก ระยะนี้อาจกินเวลาประมาณ 7-10 วัน (หลังจากผ่านพ้นระยะที่ 2 มาแล้ว) ถ้ารวมเวลาตั้งแต่เริ่มป่วยเป็นไข้จนแข็งแรงดีก็จะใช้เวลาประมาณ 7-14 วัน ส่วนในรายที่มีอาการเพียงเล็กน้อยอาจเป็นอยู่ 3-4 วัน ก็หายได้เอง ส่วนอาการไข้ (ตัวร้อน) อาจเป็นอยู่ 2-7 วัน หรือบางรายอาจนานเป็น 10 วันก็ได้ ระดับความรุนแรงของโรคไข้เลือดออก ไข้เลือดออกสามารถแบ่งระดับความรุนแรงเป็น 4 ขั้น ได้แก่
ขั้นที่ 1 (เกรด 1) ผู้ป่วยจะมีไข้และมีอาการแสดงทั่ว ๆ ไปที่ไม่เฉพาะเจาะจง อาการแสดงของการมีเลือดออกมีเพียงอย่างเดียว คือ มีจุดแดง ๆ ตามผิวหนังโดยไม่มีอาการเลือดออกอย่างอื่น และการทดสอบทูร์นิเคต์ให้ผลบวก ขั้นที่ 2 (เกรด 2) ผู้ป่วยจะมีอาการเพิ่มขึ้นจากขั้นที่ 1 คือ มีเลือดออกเอง อาจออกเป็นจ้ำเลือดที่ใต้ผิวหนัง หรือมีเลือดออกจากที่อื่น ๆ เช่น อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด แต่ยังไม่มีภาวะช็อก ชีพจรและความดันโลหิตยังคงเป็นปกติ ขั้นที่ 3 (เกรด 3) ผู้ป่วยจะมีอาการแสดงของภาวะช็อก เช่น กระสับกระส่าย เหงื่อออก มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบาแต่เร็ว ความดันต่ำหรือมีความแตกต่างระหว่างความดันช่วงบนและความดันช่วงล่าง ซึ่งเรียกว่า แรงชีพจร หรือ ความดันชีพจร (Pulse pressure) น้อยกว่า 30 มม.ปรอท เช่น ความดันช่วงบน 80 ช่วงล่าง 60 ขั้นที่ 4 (เกรด 4) ผู้ป่วยจะมีภาวะช็อกอย่างรุนแรง ชีพจรเบาและเร็วจนจับไม่ได้ ความดันตกจนวัดไมได้ และ/หรือมีเลือดออกมาก เช่น อาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือดมาก ไข้เลือดออกที่เกิดจากเชื้อชิกุนคุนยา (ไข้ปวดข้อยุงลาย) จะมีความรุนแรงในขั้นที่ 1 และ 2 จะไม่ทรุดต่อไปเป็นขั้นที่ 3 และ 4 ส่วนไข้เลือดออกที่เกิดจากเชื้อเดงกี (Dengue virus) อาจมีความรุนแรงถึงขั้นที่ 3 และ 4 ได้ประมาณ 20-30% และที่เหลืออีก 70-80% จะแสดงอาการในขั้นที่ 1 และ 2
การเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยตามขั้นต่าง ๆ จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น แพทย์จะดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การเปลี่ยนจากขั้นที่ 2 มาขั้นที่ 3 และ 4 ควรจับชีพชร วัดความดันโลหิต และอาจต้องตรวจหาความเข้มข้นของเลือดโดยการเจาะเลือดตรวจฮีมาโตคริต และตรวจนับคำนวณเกล็ดเลือดเป็นระยะ ๆ
ภาวะแทรกซ้อนของโรคไข้เลือดออก โรคไข้เลือดออกเป็นโรครุนแรง แต่โอกาสรักษาให้หายก็มีสูงเมื่อได้รับการตรวจรักษาตั้งแต่แรก หากไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยจะมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึง 50% จากการเกิดภาวะแทรกซ้อน
เลือดออกตามอวัยวะต่าง ๆ เป็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญของโรคไข้เลือดออก ซึ่งมีตั้งแต่ไม่รุนแรง เช่น เลือดออกที่ผิวหนัง เลือดกำเดาไหล ไปจนถึงเลือดออกรุนแรงตามอวัยวะภายในต่าง ๆ เช่น สมอง กระเพาะอาหาร ลำไส้ และปอด ซึ่งมักจะทำให้มีอัตราการเสียชีวิตสูง ภาวะช็อกซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิต อาจทำให้เกิดภาวะตับวาย (มีอาการดีซ่าน) ซึ่งเป็นภาวะร้ายแรงที่อาจทำให้เสียชีวิตได้ มักพบในผู้ป่วยที่มีภาวะช็อกอยู่นาน ภาวะน้ำเกินในร่างกายจนเกิดมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอดหรือในช่องท้องมากเกินไป จนทำให้เกิดอาการหอบ หายใจลำบาก ซึ่งภาวะนี้เกิดจากการรั่วไหลของน้ำออกนอกหลอดเลือดในช่วงเข้าสู่ระยะช็อก หากตรวจพบและให้การรักษาได้ทันท่วงที เลือกใช้ชนิดและกำหนดปริมาณน้ำเกลืออย่างเหมาะสมทางหลอดเลือด ผู้ป่วยจะสามารถผ่านพ้นระยะนี้ไปได้อย่างปลอดภัย อาจทำให้เป็นปอดอักเสบ (อาจมีภาวะมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอดร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้) หลอดลมอักเสบ สมองอักเสบ หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบแทรกซ้อนได้ แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก หากผู้ป่วยไข้เลือดออกได้รับน้ำเกลือเข้าทางหลอดเลือดดำมากเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะปอดบวมน้ำ (Pulmonary edema) จนเป็นอันตรายได้ ดังนั้นเวลาให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด แพทย์จะตรวจดูอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ไตวาย สมองทำงานผิดปกติ การวินิจฉัยโรคไข้เลือดออก แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคไข้เลือดออกได้จากอาการที่แสดงเป็นหลัก โดยเฉพาะอาการไข้สูง 39-41 องศาเซลเซียส หน้าแดง เปลือกตาแดง อาจคลำได้ตับโต กดเจ็บ มีผื่นแดง หรือจุดแดงจ้ำเขียว โดยไม่มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ หรือเจ็บคอ ร่วมกับการมีประวัติโรคไข้เลือดออกของคนที่อาศัยอยู่บริเวณเดียวกัน หรือมีการระบาดของโรคในช่วงนั้น ๆ และการทดสอบทูร์นิเคต์ให้ผลบวก ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการวินิจฉัยโรคนี้ได้
นอกจากนี้ การส่งตรวจเลือด ซีบีซี (CBC) จะตรวจพบเกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวค่อนข้างต่ำและความเข้มข้นของเลือดสูง เพียงเท่านี้ก็สามารถวินิจฉัยโรคได้เป็นส่วนใหญ่แล้ว แต่ในบางราย หากอาการ ผลการตรวจร่างกาย และผลเลือดในเบื้องต้นยังไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ ในปัจจุบันก็มีวิธีการส่งเลือดไปตรวจหาภูมิคุ้มกันต้านทานต่อเชื้อไวรัสเดงกี ซึ่งจะช่วยทำให้การวินิจฉัยโรคนี้ได้อย่างแม่นยำมากขึ้น
การทดสอบทูร์นิเคต์ (Tourniquet test) เป็นการทดสอบโดยใช้เครื่องวัดความดันรัดเหนือข้อศอกของผู้ป่วยด้วยค่าความดันกึ่งกลางระหว่างความดันช่วงบนและความดันช่วงล่างของคนคนนั้นเป็นเวลานาน 5 นาที (ถ้าไม่มีเครื่องวัดความดัน ก็อาจใช้ยางหนังสติ๊กรัดเหนือข้อศอกให้แน่นเล็กน้อย ให้ยังพอคลำชีพจรที่ข้อมือได้ เป็นเวลานาน 5 นาที) ถ้าพบว่ามีจุดเลือดออกหรือจุดแดงเกิดขึ้นที่บริเวณท้องแขนใต้ตำแหน่งที่รัดเป็นจำนวนมากกว่า 10 จุดในวงกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว ก็แสดงว่าได้ผลบวก แต่ถ้าน้อยกว่า 10 จุด ก็แสดงว่าได้ผลลบ ซึ่งในผู้ป่วยไข้เลือดออกนี้ การทดสอบจะได้ผลบวกได้มากกว่า 80% ตั้งแต่เริ่มมีไข้ได้ 2 วันเป็นต้นไป แต่ในช่วง 1-2 วันแรกอาจยังให้ผลลบได้ แต่ในคนที่เป็นโรคเลือดที่มีเกล็ดเลือดต่ำ เช่น โลหิตจางอะพลาสติก ไอพีที หรือคนที่เป็นไข้หวัด หรือไข้อื่น ๆ ก็อาจให้ผลบวกได้เช่นกัน ส่วนในผู้ป่วยไข้เลือดออกที่อยู่ในภาวะช็อกหรือกำลังจะช็อก หรือผู้ป่วยที่อ้วนมาก (ความดันที่วัดอาจจะไม่กดทับเส้นเลือด เนื่องจากมีชั้นไขมันที่หนามาก) หรือผู้ป่วยที่ผอมมาก (ความดันที่วัดไม่กระชับวงแขน) การทดสอบนี้อาจให้ผลลบลวงได้
การทดสอบทูร์นิเคต์
ไข้เลือดออกมักแยกออกจากไข้หวัดได้อย่างชัดเจน โดยที่ไข้เลือดออกจะไม่มีอาการคัดจมูกน้ำมูกไหล อาจมีไข้สูงหน้าแดง ตาแดง หรือมีผื่นขึ้นคล้ายหัด แต่ก็สามารถแยกออกจากหัดได้ โดยผู้ป่วยที่เป็นหัดจะมีน้ำมูกและไอมาก และตรวจพบจุดค็อปลิก (Kopliks spot) ซึ่งเป็นจุดสีขาว ๆ เหลือง หรือแดง ขนาดเล็ก ๆ คล้ายเม็ดงาที่กระพุ้งแก้มด้านในบริเวณใกล้ฟันกรามล่างหรือฟันกรามด้านบนสองซี่สุดท้าย นอกจากนี้อาการไข้สูงโดยไม่มีน้ำมูก ยังอาจทำให้ดูคล้ายไข้หวัดใหญ่ ไทฟอยด์ มาลาเรีย ไข้ผื่นกุหลาบในทารก ตับอักเสบจากไวรัสระยะแรก โรคฉี่หนู เป็นต้น
ในช่วงฤดูฝนหรือในช่วงที่มีการระบาดของไข้เลือดออก ถ้าพบผู้ที่มีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ไม่ว่าจะเด็กเล็กหรือผู้ใหญ่ ควรทดสอบทูร์นิเคต์ หรือตรวจพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อพิสูจน์ไข้เลือดออกทุกราย
วิธีรักษาโรคไข้เลือดออก ในปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคไข้เลือดออกโดยตรง หากอาการไม่รุนแรงโรคนี้จะหายได้เอง ดังนั้น การรักษาจึงเป็นเพียงการรักษาไปตามอาการเป็นสำคัญ กล่าวคือ ให้ยาลดไข้ เช็ดตัว ให้ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันภาวะช็อก และการรักษาภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น
หากมีอาการไข้สูง โดยไม่มีอาการไอ เจ็บคอ หรือมีน้ำมูกไหลร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาและตรวจหาโรคไข้เลือดออก โดยเฉพาะหากพบในช่วงฤดูฝนหรือช่วงที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง (มีอาการในขั้นที่ 1) คือมีแต่อาการไข้สูง ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร โดยยังไม่มีอาการเลือดออกหรือมีภาวะช็อก แพทย์จะให้ยาลดไข้ ยาผงเกลือแร่ (ORS) เพื่อป้องกันภาวะช็อก และให้กลับไปสังเกตอาการที่บ้าน จากนั้นก็จะนัดผู้ป่วยกลับมาติดตามดูอาการที่โรงพยาบาลเป็นระยะ ๆ โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ไม่ต้องฉีดยาให้น้ำเกลือ หรือให้ยาพิเศษแต่อย่างใด รวมทั้งไม่ต้องให้ยาปฏิชีวนะและสเตียรอยด์ พร้อมทั้งแนะนำให้ปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ ให้ผู้ป่วยนอนพักผ่อนให้มาก ๆ ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทดี ให้ดื่มน้ำมาก ๆ จนปัสสาวะออกมากและใส โดยอาจเป็นน้ำเปล่า น้ำผลไม้ น้ำอัดลมที่เขย่าฟองออกแล้ว หรือผงละลายเกลือแร่ (ORS) ก็ได้ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำจากไข้สูง และจากการรั่วของน้ำออกนอกหลอดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยมีความดันโลหิตต่ำลงและเข้าสู่ภาวะช็อกได้ ให้รับประทานอาหารอ่อน ๆ ที่ย่อยง่าย ๆ เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ถ้าเบื่ออาหารหรือรับประทานอาหารได้น้อย แนะนำให้ดื่มนม น้ำหวาน น้ำผลไม้ หรือน้ำเกลือแร่ ถ้าอาเจียนแนะให้ดื่มน้ำเกลือแร่ครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อย ๆ รับประทานผลไม้ที่มีวิตามินซี หรือรับประทานวิตามินซีเสริม หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัดทุกชนิด เพราะอาจระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร และหลีกเลี่ยงอาหารหรือน้ำที่มีสีดำ สีน้ำตาล หรือสีแดง เพราะอาจทำให้สับสนกับภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารได้หากผู้ป่วยอาเจียน หลีกเลี่ยงการใช้ยาอื่นโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะยาสเตียรอยด์ ยาปฏิชีวนะ รวมไปถึงการฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ หากมีไข้สูงให้ใช้ผ้าชุบน้ำอุณหภูมิปกติหรือน้ำอุ่นบิดพอหมาด ๆ เช็ดบริเวณหน้า ลำตัว แขนขา แล้วพัก และเช็ดต่อที่บริเวณรักแร้ แผ่นอก แผ่นหลัง ขาหนีบสลับกันไปมา โดยให้ทำติดต่อกันอย่างน้อย 15 นาที ระหว่างเช็ดตัวหากมีอาการหนาวสั่นก็ให้หยุดและห่มผ้าบาง ๆ และให้รับประทานยาลดไข้พาราเซตามอล (Paracetamol) เท่านั้น โดยควรพยายามให้อุณหภูมิของร่างกายต่ำ https://www.honestdocs.co/dengue-fever https://www.honestdocs.co
เข้าชม : 237
|