สายตาสั้น (Myopia) คืออะไร?
www.honestdocs.co/myopia
www.honestdocs.co
ภาวะสายตาสั้นนี้เป็นความผิดปกติที่พบได้บ่อยที่ทำให้มองไกล ไม่ชัด แต่ยังสามารถมองเห็นวัตถุใกล้ๆ ได้ชัดเจน สายตาสั้น (Myopia หรือ nearsightedness) เป็นปัญหาของการมองเห็นที่พบได้บ่อยที่สุดชนิดหนึ่ง ผู้ที่มีสายตาสั้นจะไม่สามารถมองเห็นวัตถุที่อยู่ระยะไกลได้ชัดเจน ในประเทศสหรัฐอเมริกา พบผู้ที่มีภาวะนี้ประมาณ 25% ของประชากรทั้งหมด สาเหตุของสายตาสั้น โดยทั่วไป สายตาสั้นมักเกิดจากลูกตาที่ยาวเกินไป ทำให้แสงไม่สามารถรวมกันด้านหลังของเรตินาได้ (ฉากรับแสงที่อยู่ด้านหลังของลูกตา) นอกจากนั้นยังสามารถเกิดจากกระจกตาที่ผิดรูปร่างได้อีกด้วย ทั้งสองสาเหตุนี้ทำให้แสงไม่สามารถมาตกกระทบโดยตรงที่เรตินาได้ แต่จะตกก่อนถึงเรตินา ทำให้ภาพที่อยู่ระยะไกลเกิดความเบลอ ถึงแม้ว่านักวิจัยจะยังไม่รู้สาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดสายตาสั้นแต่มีแนวโน้มว่าอาจมีความเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม หากพ่อแม่คุณคนใดคนหนึ่งมีสายตาสั้นจะทำให้คุณมีโอกาสในการเกิดสายตาสั้นได้มากกว่าผู้ที่พ่อแม่ไม่ได้มีสายตาสั้น อาการของสายตาสั้น สายตาสั้นอาจเกิดขึ้นอย่างช้าๆ หรือรวดเร็วก็ได้ โดยมักจะเริ่มเกิดในช่วงวัยเด็กก่อนที่จะสั้นมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อโตขึ้น ซึ่งอาการของสายตาสั้น ประกอบด้วย มองเห็นภาพไกลๆ ไม่ชัดเจน ต้องหยีตาเพื่อมองให้ชัด ปวดหัว ขับรถลำบากเนื่องจากมีปัญหาทางสายตาโดยเฉพาะเวลากลางคืน การวินิจฉัยสายตาสั้น การตรวจตาอย่างครบถ้วนโดยนักทัศนมาตรศาสตร์สามารถตรวจพบภาวะนี้ได้ โดยส่วนใหญ่พ่อแม่มักจะทราบว่าลูกมีสายตาสั้นจากการตรวจวัดสายตาที่โรงเรียน ในบางครั้งพ่อแม่หรือครูอาจสังเกตอาการสายตาสั้นได้จากการที่เด็กต้องเพ่งตาเพื่อมองสิ่งของที่อยู่ไกล ผู้ใหญ่อาจเริ่มสังเกตว่ามีสายตาสั้นเมื่อเริ่มมีปัญหา ในการดูหนัง ไม่สามารถมองเห็นวัตถุไกลๆ ขณะขับรถ หรือระหว่างการทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ต้องใช้การมองวัตถุไกลๆ หากคุณมีปัญหาด้านการมองเห็นวัตุที่อยู่ไกลควรเข้ารับการตรวจวัดสายตา หรือแม้ว่าคุณจะไม่มีอาการของสายตาสั้นแต่ก็ควรตรวจวัดสายตาเป็นประจำเมื่อมีอายุ 40 ปีขึ้นไป ตามคำแนะนำของ Mayo Clinic ซึ่งแนะนำให้มีการตรวจสายตา ดังนี้ ตรวจสายตาทุก 2-4 ปี ระหว่างอายุ 40-54 ปี ตรวจสายตาทุก 1-3 ปี เมื่อมีอายุระหว่าง 55-64 ปี ตรวจสายตาทุก 1-2 ปี เมื่อมีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป แต่ถ้าคุณมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเกี่ยวกับตาบางชนิดเช่นต้อหิน หรือหากคุณเป็นโรคเบาหวาน อาจจะต้องมีการตรวจตาถี่กว่าปกติ โดยแนะนำให้ ตรวจสายตาทุก 1-3 ปี ระหว่างอายุ 40-54 ปี ตรวจสายตาทุก 1-2 ปี เมื่อมีอายุมากกว่า 55 ปีขึ้นไป การรักษาสายตาสั้น วิธีการรักษาที่ง่ายที่สุดก็คือการใส่เลนส์แก้ไข ไม่ว่าจะด้วยการใส่แว่นสายตาหรือใช้คอนแทคเลนส์ ทางเลือกในการรักษาอีกวิธีหนึ่งคือการผ่าตัด โดยการผ่าตัดที่ใช้บ่อยมี 2 แบบ คือ LASIK (Laser-assisted in-situ keratomileusis) : ในการทำ LASIK จักษุแพทย์จะทำการตัดกระจกตาออกเป็นบานพับกลมๆ ก่อนจะใช้เลเซอร์ชนิดพิเศษที่ไม่ก่อให้เกิดความร้อนเพื่อตัดบางส่วนจากกระจกตาส่วนกลางออกเพื่อเปลี่ยนรูปร่างของกระจกตาและเพื่อทำให้มองเห็นได้ดีขึ้น LASEK (laser-assisted subepithelial keratectomy) : ในการผ่าตัดนี้แพทย์จะทำให้ผิวของกระจกตาด้านนอกบางลง หลังจากการตัดให้เปิดเป็นบานพับแล้วแพทย์จะใช้เลเซอร์ชนิดพิเศษในการตัดผิวของกระจกตาด้านนอกออก หลังจากการผ่าตัดนี้แพทย์อาจให้ใส่คอนแทกเลนส์เป็นการชั่วคราวเพื่อป้องกันตาเป็นเวลาหลายวัน ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากการผ่าตัดทั้ง 2 แบบนี้ ประกอบด้วย การแก้ไขสายตาที่น้อยหรือมากเกินไปจากระดับสายตาเดิม ปัญหาด้านการมองเห็น เช่น อาจเห็นแสงรอบสิ่งของเมื่ออยู่ในที่ที่มีแสงจ้า ตาแห้ง มีการติดเชื้อ เกิดแผลที่กระจกตา ตาบอด (พบได้น้อยมาก)
เข้าชม : 247
|