ซิฟิลิส (Syphilis) คืออะไร?
www.honestdocs.co/syphilis
www.honestdocs.co
ซิฟิลิส (Syphilis) เป็นโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียที่พบได้บ่อยๆ ชนิดหนึ่ง ซึ่งโดยปกติจะติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อซิฟิลิสนี้ หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดปัญหารุนแรงตามมาภายหลังได้ การดำเนินโรคในขั้นต้น โดยทั่วไปจะเริ่มจากบาดแผล ซึ่งมักพบบริเวณอวัยวะเพศ ปาก หรือทวารหนัก ลักษณะของแผลนี้จะเป็นแผลที่ไม่รู้สึกเจ็บ (Painless sore) หรือเรียกว่า แผลริมแข็ง (Chancre) การแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่นสามารถเกิดได้ผ่านทางการสัมผัสระหว่างบาดแผลนี้ กับผิวหนังหรือเยื่อบุต่างๆ โรคซิฟิลิส อาจเป็นปัญหาที่ตรวจพบได้ยาก เนื่องจากการดำเนินโรคหลังจากได้รับเชื้อแล้ว เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้สามารถหลบซ่อนตัวอยู่เงียบๆ ภายในร่างกายเราได้เป็นเวลาหลายปีก่อนที่จะมีอาการแสดงขึ้นมาในภายหลัง ซึ่งระยะนี้ เรียกว่า ระยะแฝง (Latent phase) หากเราสามารถตรวจพบการติดเชื้อนี้ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ จะสามารถทำการรักษาให้หายขาดได้ และหลังจากได้รับการรักษาจนหายขาดแล้ว เราจะไม่เป็นโรคซิฟิลิส เว้นแต่ว่าจะได้รับเชื้อจากผู้ติดเชื้อรายอื่น ในกรณีนั้นเราก็สามารถเป็นโรคซิฟิลิสได้เช่นเดียวกัน สาเหตุของโรคซิฟิลิส ซิฟิลิส เกิดจากแบคทีเรียที่มีชื่อว่า ทรีโพนีมา แพลลิดัม (Treponema pallidum) ซึ่งสามารถเข้าสู่ร่างกายของเราได้ผ่านทางรอยขีดข่วนหรือบาดแผลเล็กๆ บนผิวหนังและเยื่อบุต่างๆ การแพร่กระจายของเชื้อชนิดนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในระยะแรก ซึ่งเป็นระยะที่มีแผลริมแข็ง (Chancre) หรือในระยะที่สอง ซึ่งจะมีอาการแสดงคือมีผื่นขึ้น หรือแม้แต่ในช่วงแรกๆ ของระยะแฝง (Early latent phase) ซึ่งไม่มีอาการแสดงใดๆ เลยก็ตาม หลายคนมีความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับการติดต่อของเชื้อซิฟิลิส ในความเป็นจริง เชื้อชนิดนี้จะไม่ติดต่อกันผ่านทางการใส่เสื้อผ้าร่วมกัน ใช้ห้องน้ำร่วมกัน หรือกินอาหารจากภาชนะเดียวกัน หรือแม้แต่จากลูกบิดประตู สระว่ายน้ำ อ่างอาบน้ำ หรือการใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ มีการติดเชื้อบางกรณีที่พบได้ไม่บ่อยนัก สามารถเกิดได้จากการสัมผัสโดยตรงกับบริเวณที่มีการติดเชื้ออยู่ขณะนั้น เช่นผ่านทางการจูบ เป็นต้น โรคติดเชื้อซิฟิลิสโดยกำเนิด (Congenital Syphilis) ซิฟิลิส สามารถติดต่อผ่านทางแม่สู่ลูกระหว่างการตั้งครรภ์ หรือระหว่างการคลอดได้ การติดเชื้อกรณีนี้จะเรียกว่า โรคติดเชื้อซิฟิลิสโดยกำเนิด (Congenital syphilis) ซึ่งนับเป็นการติดเชื้อที่รุนแรง และมีผลร้ายแรงอาจถึงแก่ชีวิตได้ การติดเชื้อซิฟิลิสโดยกำเนิดนี้ สามารถทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด ทารกเสียชีวิตในครรภ์ หรือเกิดการเสียชีวิตในทารกแรกเกิดได้ นอกจากนี้ การติดเชื้อซิฟิลิสโดยกำเนิดยังสามารถส่งผลให้มีอาการ หูหนวก ตาบอด มีความผิดปกติทางโครงสร้างต่างๆ รวมถึงความผิดปกติทางระบบประสาทในเด็กได้ ซึ่งหากเราสามารถตรวจพบและเริ่มทำการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ โดยการให้ยาปฏิชีวนะเพนิซิลลิน (Penicillin) จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการต่างๆ เหล่านี้ได้ ความชุกของโรคซิฟิลิส อ้างอิงจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อ (Centers for Disease Control and Prevention; CDC) ในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี ค.ศ. 2014 มีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อซิฟิลิสในระยะที่หนึ่งและระยะที่สอง รวมกันประมาณ 20,000 ราย โดยทั่วไป การติดเชื้อซิฟิลิสนี้พบได้บ่อยกว่าในผู้ชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มรักร่วมเพศ โดยรายงานจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อของสหรัฐอเมริกา (CDC) ระบุว่า จากกลุ่มผู้ติดเชื้อซิฟิลิสทั้งหมดในปี ค.ศ. 2014 เป็นกลุ่มชายรักร่วมเพศมากถึง 60% ในขณะที่กลุ่มผู้ชายที่ระบุว่ามีเพศสัมพันธ์เฉพาะกับผู้หญิงเท่านั้น มีอัตราส่วนประมาณ 12% และอีก 18% เป็นผู้ชายที่ไม่ได้ระบุรายละเอียดการมีเพศสัมพันธ์ ในส่วนของจำนวนผู้ติดเชื้อที่เป็นผู้หญิงนั้น มีเพียงราวๆ 10% จากกลุ่มผู้ติดเชื้อทั้งหมดเท่านั้น ผลกระทบที่เกิดจากซิฟิลิส หากไม่ได้รับการรักษา ซิฟิลิส สามารถส่งผลต่อหัวใจและสมอง และอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ จากรายงานการศึกษา พบว่า การติดเชื้อซิฟิลิส มีความเกี่ยวข้องกับโรคเส้นเลือดแดงโป่งพอง (Arterial aneurysm) การอักเสบของเส้นเลือดแดงใหญ่เอออร์ต้า (Inflammation of aorta) ซึ่งเป็นเส้นเลือดแดงหลักของร่างกาย และยังมีผลทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อลิ้นหัวใจได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ซิฟิลิส ยังมีความเกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางระบบประสาทและระบบไหลเวียนโลหิต อีกหลายประการ ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมองแตก ตีบ ตัน หรือฉีกขาด (Stroke) โรคเยื่อหุ้มไขสันหลังอักเสบ (Meningitis) การได้ยินผิดปกติ การมองเห็นผิดปกติ โรคความจำเสื่อม การติดเชื้อซิฟิลิสยังมีผลเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ซึ่งก่อให้เกิดโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือที่เรียกกันว่า เอดส์ (AIDs) อีกด้วย รายงานการศึกษา ระบุว่า ผู้ใหญ่ที่ได้รับเชื้อซิฟิลิสทางการมีเพศสัมพันธ์ มีโอกาสที่จะติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ได้มากถึง 2-5 เท่าของคนทั่วไป โดยส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการที่บาดแผลริมแข็งในโรคซิฟิลิส สามารถมีเลือดออกและทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสเอชไอวีได้ ในผู้หญิง ซิฟิลิสเป็นปัญหาสำคัญในช่วงที่ตั้งครรภ์ ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า อาจทำให้เกิดการติดเชื้อซิฟิลิสโดยกำเนิด และมีผลทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด ทารกเสียชีวิตในครรภ์ และการเสียชีวิตของทารกได้ในช่วงไม่กี่วันหลังคลอด และท้ายที่สุดนี้ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อซิฟิลิส อาจเกิดตุ่มหรือก้อนเนื้อขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า กัมม่า (Gummas) ได้ ซึ่งกัมม่า (Gummas) นั้น สามารถเกิดได้ทั้งบริเวณ ผิวหนัง กระดูก หรืออวัยวะภายในก็ได้ โดยจะเกิดในระยะหลังของการติดเชื้อ (Late stage of infection) การป้องกันการติดเชื้อซิฟิลิส แม้ว่าการรักษาโรคซิฟิลิส จะสามารถป้องกันการเกิดผลกระทบตามมาภายหลังได้ แต่อาการหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วนั้น ไม่สามารถย้อนกลับได้ ดังนั้น แพทย์จึงแนะนำให้มี่การป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อตั้งแต่แรก โดยมีวิธีต่างๆ ดังนี้ งดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ หรือมีเพศสัมพันธ์เฉพาะสามี-ภรรยา / คู่นอนของตนเองคนเดียวเท่านั้น ใช้ถุงยางอนามัยระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ (การใช้ถุงยางอนามัยสามารถลดการติดต่อซิฟิลิสได้ แต่ตัวถุงยางอนามัยต้องครอบคลุมบริเวณแผลด้วย) หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มมึนเมา หรือยาเสพติดประเภทต่างๆ (การดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มมึนเมา หรือใช้ยาเสพติดต่างๆ มีผลทำให้ขาดสติ ขาดความยับยั้งชั่งใจ และอาจนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันได้) สำหรับสตรีมีครรภ์ทุกราย แพทย์แนะนำว่าควรได้รับการตรวจคัดกรองซิฟิลิสระหว่างการตั้งครรภ์
เข้าชม : 292
|