เนื้อหา : บทความสาระน่ารู้
หมวดหมู่ : บทความทั่วไป
หัวข้อเรื่อง : ข้อเสนอแนะการจัดหาและการกระจายวัคซีนโควิด-19

จันทร์ ที่ 30 เดือน พฤษภาคม พ.ศ.2565

คะแนน vote : 107  

     
 

       เป็นที่ชัดเจนจากประสบการณ์หลายประเทศแล้วว่าการได้รับวัคซีนโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ  ทั่วถึง และรวดเร็ว คือทางออกจากวิกฤติการระบาดของโควิด-19 ที่ได้ผลที่สุด และคาดว่าประเทศส่วนใหญ่จะยังต้องมีการฉีดวัคซีนต่อเนื่องในระยะยาวตามการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส ทำให้มีการปรับการคาดการณ์ว่าปริมาณวัคซีนในโลกจะยังคงไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ไปอีกอย่างน้อย 1-2 ปี ความเชื่อที่ว่าในปีหน้าตลาดวัคซีนจะเริ่มกลายเป็นตลาดของผู้ซื้อจนทำให้ไม่ต้องวางแผนมากนักในการจัดหาวัคซีน น่าจะไม่เป็นจริงอีกต่อไป 

       สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จึงจัดทำข้อเสนอแนะให้มีการปรับแผนการจัดหาวัคซีนให้มองไปข้างหน้าอย่างเหมาะสม โดยเรียนรู้จากตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ และบทเรียนที่ผ่านมาของประเทศไทยเอง ไม่ว่าจะเป็นการจองและจัดซื้อวัคซีนล่าช้าและมีปริมาณน้อยเกินไป ความจำกัดของประเภทวัคซีน และการบริหารความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ ที่ไม่เพียงพอ อันเป็นผลจากการติดกฎระเบียบที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ ความล่าช้าในกระบวนการต่าง ๆ ของระบบราชการ การไม่มีกลไกคุ้มครองผู้ตัดสินใจหากตัดสินใจผิดพลาดโดยสุจริต การขาดมุมมองและทักษะหลายด้านที่จำเป็นรวมทั้งการมีภารกิจล้นตัวจากงานประจำของคณะผู้จัดหาวัคซีน ซึ่งทำให้การจัดหาวัคซีนไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิผล อีกทั้งมีการตัดสินใจที่สำคัญที่สาธารณะไม่ได้รับทราบกระบวนการและเหตุผลในการตัดสินใจทั้งที่เป็นการตัดสินใจที่มีความสำคัญอย่างสูงสุดเพราะเกี่ยวข้องกับชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งประเทศ

       ในด้านการกระจายและระดมฉีดวัคซีนนั้น ที่ผ่านมาประเทศไทยมีความสามารถในการฉีดวัคซีนได้เร็วพอสมควร แต่ประสบปัญหาวัคซีนไม่เพียงพอ ไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน และความสับสนในการสื่อสารระหว่างหน่วยงานในเรื่องประมาณการจำนวนวัคซีนที่แต่ละหน่วยงานฉีดวัคซีนจะได้รับการจัดสรรจนทำให้ต้องเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปกระทั่งกับผู้สมควรได้รับวัคซีนลำดับแรก ๆ จำนวนการฉีดต่ำกว่าที่วางแผนไว้มากจนเกิดความเสี่ยงสูงที่จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีนได้ 100 ล้านโดสก่อนสิ้นปี 2564 และยังมีปัญหาการกระจายวัคซีนที่บิดเบือนไม่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ ซึ่งส่วนสำคัญน่าจะเป็นผลจากการตัดสินใจทางการเมืองที่คำนึงถึงเป้าหมายอื่นมากกว่ายุทธศาสตร์ที่วางไว้ ปัจจัยเหล่านี้น่าจะส่งผลกระทบในด้านลบ ทั้งต่อการควบคุมการระบาด การลดความสูญเสียชีวิตของประชาชนและการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาโดยเร็ว

บทความนี้จะเสนอแนะนโยบายและมาตรการจัดหาและกระจายวัคซีนทั้งในปีนี้และปีหน้า โดยในด้านการจัดหานั้นจะพิจารณาควบคู่ไปกับการวิจัยพัฒนาและการผลิตวัคซีนภายในประเทศด้วย

1. การจัดหาวัคซีนจากต่างประเทศ

ในสถานการณ์ปัจจุบันที่วัคซีนยังมีไม่เพียงพอกับความต้องการของโลกนั้น การจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในปริมาณที่มากพอจากต่างประเทศ จะเป็นวิธีที่มีประโยชน์สูงสุดทั้งด้านการแพทย์และด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนี้ ซึ่งการที่จะบรรลุเป้าหมายที่กล่าวมาแล้วได้ ประเทศไทยจะต้องอยู่ในฐานะที่สามารถแข่งขันกับประเทศผู้ซื้ออื่นๆ ทั่วโลกได้ ดังนั้น เป้าหมายที่สำคัญในการจัดหาวัคซีนของไทยในปัจจุบันก็คือ ต้องบริหารความเสี่ยงโดยคำนึงถึงทุกความเป็นไปได้ไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงใด ซึ่งประกอบด้วยหลักการและแนวปฏิบัติดังต่อไปนี้

    - ควรตั้งเป้าหมายโดยมุ่งจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง เช่นวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี mRNA หรือ protein subunit และวัคซีนที่มีประสิทธิภาพรองลงมาแต่ยังใช้ได้ผลดี เช่นวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี viral vector ซึ่งวัคซีนเหล่านี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิต และยังสามารถป้องกันการติดเชื้อได้มากกว่าวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีที่เก่ากว่าด้วย นอกจากนั้น วัคซีนเหล่านี้สามารถสร้างภูมิคุ้มกันในระดับที่ค่อนข้างสูง ซึ่งงานวิจัยในระยะหลังบ่งชี้ว่าวัคซีนที่สร้างระดับภูมิคุ้มกันได้สูงมักมีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้ดีกว่าวัคซีนที่สร้างระดับภูมิคุ้มกันที่ต่ำกว่าหรือมีระดับภูมิคุ้มกันตกลงเร็วกว่า การใช้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงจึงน่าจะช่วยให้ประเทศไทยเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้เร็วขึ้น ป้องกันการติดเชื้อและคงประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ได้ดีกว่า และช่วยให้เศรษฐกิจกลับมาพื้นตัวได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ แผนการจัดหาวัคซีนควรมีความยืดหยุ่นเพียงพอในการปรับสัดส่วนการจัดหาวัคซีนชนิดต่างๆ ตามผลการวิจัยด้านประสิทธิผลที่มีอยู่ปัจจุบันและที่จะออกมาในอนาคตเป็นระยะๆ
    - เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวข้างต้น รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณในการจัดหาวัคซีนประสิทธิภาพสูงอย่างเพียงพอ เพราะถ้าหากสามารถรักษาชีวิตของประชาชนจำนวนมากและฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว ก็จะมีความคุ้มค่าอย่างแน่นอน รัฐบาลจึงไม่ควรตั้งเป้าหมายในการจัดหาให้ได้วัคซีนเหล่านี้ในราคาถูก แต่ควรตั้งเป้าจัดหาวัคซีนประสิทธิภาพสูงอย่างน้อย 150 ล้านโดสหรือมากกว่านั้นในปี 2565 เพื่อให้ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่ม รวมทั้งชาวต่างชาติที่พำนักอาศัยถาวรในประเทศไทยด้วย และถ้าหากจัดหาได้เกินความต้องการในประเทศ ก็สามารถขายต่อหรือบริจาคให้ประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับไทย หรือนำวัคซีนส่วนเกินมาฉีดให้กับแรงงานที่ข้ามพรมแดนไทยเป็นประจำเพื่อช่วยลดโอกาสการระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทยเองด้วย ส่วนเป้าหมายในปี 2564 ก็ยังควรพยายามอย่างถึงที่สุดในการจัดหาให้ได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายเดิม 100 ล้านโดส โดยมีสัดส่วนของวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ 
    - ในกรณีที่ไม่สามารถจัดหาวัคซีนประสิทธิภาพสูงตามเป้าหมายข้างต้น หลังจากใช้ความพยายามทุกวิถีทางแล้ว อาจจัดหาวัคซีนกลุ่มอื่นมาทดแทนได้ หากสถานการณ์การระบาดรุนแรง ทำให้มีความต้องการวัคซีนจำนวนมากกว่าวัคซีนประสิทธิภาพสูงที่จัดหามาได้ โดยอาจใช้วัคซีนทดแทนดังกล่าวกับกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่รัฐบาลจะต้องสื่อสารต่อประชาชนอย่างชัดเจนว่าได้พยายามอย่างถึงที่สุดแล้วในการจัดหาวัคซีนประสิทธิภาพสูง และมีความจำเป็นที่ต้องจัดหาวัคซีนทดแทนมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน
    - เพื่อเพิ่มโอกาสสูงสุดที่จะให้ได้วัคซีนประสิทธิภาพสูงอย่างเพียงพอและทันกับสถานการณ์  รัฐควรจัดตั้ง “คณะทำงานของประเทศเพื่อจัดหาวัคซีนโควิด-19” โดยให้มีนักธุรกิจที่มีประสบการณ์สูงเป็นหัวหน้าคณะ และให้มีอิสระในการเลือกคณะทำงานจากผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และวัคซีน ทูต นักธุรกิจและนักเจรจาการค้าที่มีความสามารถจากทั้งภาครัฐและเอกชน โดยให้ทำงานเต็มเวลาหรือเกือบเต็มเวลา ไม่ให้มีภารกิจอื่นรบกวนในระหว่างทำหน้าที่นี้ การทำงานไม่ถูกจำกัดหรือถูกจำกัดน้อยที่สุดจากระเบียบราชการ ดังตัวอย่างของคณะทำงานในลักษณะเดียวกันในอังกฤษ  (ดูข่าวการตั้งคณะทำงานจัดหาวัคซีนของอังกฤษ และรายงานผลการดำเนินงาน) คณะทำงานนี้จะเป็นตัวแทนของรัฐบาลไทยในการติดต่อและเจรจาซื้อวัคซีนจากบริษัทผู้ขายได้อย่างอิสระ ภายใต้วงเงินงบประมาณที่กำหนดไว้ (ซึ่งมีความยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์อุปสงค์และอุปทานสำหรับวัคซีนในตลาดโลก) คณะทำงานฯ ต้องรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการอย่างโปร่งใสต่อสาธารณะอย่างต่อเนื่อง (เท่าที่ไม่ขัดกับข้อตกลงการรักษาความลับทางการค้าที่คู่เจรจากำหนด) 
    - เพื่อให้คณะทำงานฯ สามารถจัดหาวัคซีนได้โดยไม่ติดกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค ควรให้การจัดหาวัคซีนสามารถดำเนินการได้โดยใช้อำนาจตามมาตรา 18(4) ของพระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 อันเป็นแนวทางเดียวกับที่รัฐบาลใช้ในการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินหรือเหตุจำเป็น พ.ศ. 2563 ซึ่งมีผลคุ้มครองคณะทำงานไม่ให้มีความรับผิดในกรณีที่จัดหาวัคซีนที่อยู่ในระหว่างการทดลองแต่ในภายหลังไม่ผ่านการอนุมัติ เว้นแต่จะมีหลักฐานโดยประจักษ์ชัดว่าดำเนินการโดยทุจริต 
    - เพื่อเพิ่มโอกาสในการได้รับวัคซีนประสิทธิภาพสูงเร็วขึ้นและในปริมาณมากขึ้น ในระยะแรกรัฐบาลอาจสนับสนุนให้เอกชนสามารถจัดหาวัคซีนทางเลือกได้คล้ายกับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่อาจยังยึดถือแนวคิดว่าการได้รับวัคซีนโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นสิทธิ์พื้นฐานตามรัฐธรรมนูญที่รัฐควรจัดให้ประชาชนทุกคน ดังนั้นหากวัคซีนทางเลือกถูกนำมารวมกับวัคซีนหลักที่คณะทำงานฯ จัดหามาและกระจายให้ทุกคนตามยุทธศาสตร์การกระจายวัคซีน รัฐบาลก็ควรเป็นผู้จ่ายค่าวัคซีนที่เอกชนนำเข้ามาทั้งหมด (แต่ต้องใกล้เคียงกับต้นทุนรวมของวัคซีนหลักประเภทเดียวกันหรือที่เทียบเคียงได้ที่คณะทำงานฯ จัดหามาได้ เพื่อป้องกันการนำเข้าวัคซีนทางเลือกที่แพงอย่างไม่สมเหตุผล) รวมทั้งค่าดำเนินการจัดหาให้เอกชนผู้นำเข้าด้วย แต่หากประชาชนบางกลุ่มต้องการได้รับวัคซีนก่อนและมีวัคซีนเพียงพอสำหรับฉีดให้กลุ่มเป้าหมายหลักตามยุทธศาสตร์การกระจายวัคซีนของประเทศแล้ว ก็อาจอนุญาตให้คนทั่วไปจองซื้อวัคซีนทางเลือกได้โดยรัฐบาลยังคงอุดหนุนต้นทุนบางส่วนแต่ต้องไม่เกินต้นทุนรวมต่อโดสของวัคซีนหลักประเภทเดียวกันหรือที่เทียบเคียงได้ที่คณะทำงานฯ จัดหามาได้
    - ในกรณีที่คณะทำงานฯ ประสบความสำเร็จในการจัดหาวัคซีนตามเป้าหมายทั้งในปี 2564-2565 และปีต่อ ๆ ไป อาจพิจารณายกเลิกการจัดหาวัคซีนทางเลือกในส่วนภาคเอกชนก็ได้ เพื่อป้องกันปัญหาความเหลื่อมล้ำในการได้รับวัคซีนของประชาชนกลุ่มต่างๆ
    - การเจรจาซื้อวัคซีนทั้งในส่วนภาครัฐและภาคเอกชน ควรคำนึงถึงการได้มาซึ่งวัคซีนรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพสามารถป้องกันการติดเชื้อที่กลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 ได้ดีที่สุด โดยเลือกเจรจากับบริษัทที่มีแผนการพัฒนาวัคซีนรุ่นใหม่อยู่แล้วหรือมีแผนที่ชัดเจนว่าจะพัฒนาวัคซีนรุ่นใหม่ และควรระบุในสัญญาให้ชัดเจนว่าประเทศไทยจะได้รับวัคซีนนั้นตามจำนวนที่เจรจากันทันทีที่บริษัทสามารถผลิตวัคซีนรุ่นใหม่ได้
    - รัฐบาลควรพิจารณาเข้าสู่โครงการ COVAX ซึ่งแม้ว่าอาจจะไม่ช่วยให้ประเทศไทยได้รับวัคซีนมากขึ้นในระยะเฉพาะหน้านี้ แต่ก็เป็นการประกันความเสี่ยงในอนาคตที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน 
    - รัฐบาลควรร่วมมือกับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าในการพิจารณาความเป็นไปได้ในการขยายปริมาณการผลิตวัคซีนในประเทศไทยให้ได้มากขึ้นโดยเร็ว โดยไทยควรได้สิทธิ์ส่วนใหญ่หรือทั้งหมดในการผลิตที่เพิ่มขึ้น เฉพาะในกรณีที่สถานการณ์การระบาดของไทยมีแนวโน้มเลวร้ายลงจนกระทบระบบสาธารณสุขและระบบเศรษฐกิจอย่างรุนแรงเท่านั้น ที่รัฐบาลอาจพิจารณาใช้อำนาจตามมาตรา 18 (2) ของพระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 เป็นทางเลือกสุดท้ายในการกำหนดสัดส่วนการส่งออกวัคซีน เพื่อไม่ให้กระทบความสัมพันธ์กับทั้งบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าและกับแผนการควบคุมโรคของประเทศที่สั่งจองและรอรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่จะนำเข้าจากไทยด้วย


2. การสนับสนุนการวิจัยพัฒนาและการผลิตวัคซีนภายในประเทศ

ในปัจจุบัน หน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทยมีศักยภาพในการวิจัยและพัฒนา และแม้กระทั่งส่งออกวัคซีนสำหรับป้องกันโรคบางชนิด  ในกรณีวัคซีนโควิด-19 เรามีการวิจัยและพัฒนาวัคซีนกว่า 20 ชนิด ซึ่งมีทั้งวัคซีนชนิด mRNA, protein-subunit, DNA และวัคซีนเชื้อตาย  และที่สำคัญ ไทยยังประสบความสำเร็จในการรับจ้างผลิตวัคซีนชนิด viral-vector ให้แอสตร้าเซนเนก้าโดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์  

ด้วยศักยภาพดังกล่าว ภาครัฐจึงควรให้การสนับสนุนโครงการพัฒนาและผลิตวัคซีนในประเทศที่มีขีดความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีและการผลิตที่ได้มาตรฐานสากลอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยการสนับสนุนเงินทุนในการพัฒนาและผลิตวัคซีนประสิทธิภาพสูงในลักษณะที่ยืดหยุ่นกว่าการใช้เงินงบประมาณปกติ รวมถึงส่งเสริมให้บริษัทผลิตวัคซีนระดับโลกมาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้นด้วย เพื่อให้ประเทศไทยมีทางเลือกเพิ่มขึ้นในการได้มาซึ่งวัคซีนโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพสูง อีกทั้งมีความพร้อมในการรับมือโรคอุบัติใหม่ในอนาคต อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการตั้งความหวังที่เกินจริงต่อการผลิตวัคซีนในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการตั้งความหวังดังกล่าวนำไปสู่การดำเนินการที่ส่งผลให้การจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงจากต่างประเทศในปริมาณน้อยหรือล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น

3. การกระจายวัคซีน

ในช่วงประมาณสองเดือนที่ผ่านมา การกระจายวัคซีนกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่สร้างความโกลาหลในวงกว้างและกระทบคนจำนวนมากด้วยเหตุผลหลัก 3 ประการคือ (1) การได้รับวัคซีนที่จัดซื้อมาล่าช้ากว่าที่คาด และ (2) การแย่งบทบาทกันในการกระจายวัคซีนระหว่างหน่วยงานต่างๆ โดยขาดการประสานงานที่ดี และ (3) มีการเปลี่ยนแปลงกลุ่มเป้าหมายในการกระจายวัคซีนไปมาหลายครั้งตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น 

รัฐบาลควรพยายามกลับไปใช้แนวทางการมีช่องทางหลักช่องทางเดียวในการจองฉีดวัคซีนของประชาชน โดยใช้ระบบการจองผ่านแอพพลิเคชัน “หมอพร้อม” แทนการจองผ่านหลายช่องทางในปัจจุบัน และควรเชื่อมโยงข้อมูลโรคประจำตัวของกลุ่มเสี่ยงจากโรงพยาบาลต่างๆ เข้ากับระบบดังกล่าวอย่างครบถ้วน เนื่องจากการมีช่องทางหลักช่องทางเดียวสำหรับประชาชนทุกกลุ่มจะช่วยให้ระบบสามารถจัดลำดับในการรับวัคซีนของประชาชนตามยุทธศาสตร์ในการกระจายวัคซีนที่ต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ได้ ในขณะที่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดการแทรกแซงทางการเมืองหรือการปล่อยให้สถานพยาบาลใช้ดุลยพินิจในการปรับเปลี่ยนการฉีดวัคซีนเอง ระบบหมอพร้อมควรเพิ่มการแจ้งเตือนประชาชนให้มาฉีดเมื่อใกล้เวลา การแจ้งเสนอให้ผู้จองฉีดลำดับถัดไปเลื่อนคิวขึ้นมาได้หากมีผู้ถึงกำหนดฉีดแต่ไม่มาฉีดจำนวนมาก รวมทั้งการเลื่อนการฉีดออกไปเมื่อวัคซีนมีปริมาณไม่มากเท่ากับที่คาดการณ์ไว้ หรือมีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในการกระจายวัคซีน

อย่างไรก็ตาม ยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีช่องทางอื่นเสริมเพื่อรองรับประชากรที่ไม่สะดวกในการใช้แอพพลิเคชัน เช่น ผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟน ผู้สูงอายุ หรือแรงงานข้ามชาติ หรือเพื่อระดมฉีดวัคซีนในชุมชนหรือคลัสเตอร์ที่มีการระบาดอย่างรุนแรงเช่นในแคมป์คนงานและชุมชนโดยรอบ  ทั้งนี้ช่องทางเสริมควรมีเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และต้องเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าวเข้าสู่ระบบกลางโดยเร็ว เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้

4. ประเด็นอื่นๆ

การฉีดวัคซีนกระตุ้นหลังจากเข็มที่สอง รวมทั้งการสลับชนิดวัคซีน ควรเกิดขึ้นเมื่อมีงานวิจัยเบื้องต้นรองรับ โดยชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ที่จะได้รับและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้รัฐบาลต้องเปิดเผยผลการวิจัยนั้นต่อประชาชนโดยละเอียดเพื่อสร้างความมั่นใจว่าการตัดสินใจดังกล่าวอยู่บนข้อมูลทางวิชาการ

ปัญหาการแย่งวัคซีนน่าจะค่อยๆ ดีขึ้นในอนาคต เมื่อมีวัคซีนชนิดต่างๆ เข้ามาในปริมาณที่มากขึ้น ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงวัคซีนที่ต้องการได้ อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่กล่าวมาน่าจะเกิดขึ้นเร็วที่สุดภายในต้นหรือกลางปีหน้า ซึ่งเมื่อแก้ปัญหานี้แล้ว อีกปัญหาใหญ่ที่ควรต้องเตรียมรับมือต่อไปก็คือการที่ประชาชนบางส่วนอาจยังปฏิเสธการฉีดวัคซีน ซึ่งต้องหาแนวทางในการสื่อสารและรณรงค์กันต่อไป

บทความโดย ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ดร.สมชัย จิตสุชน ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ และ นพ.ต่อพงศ์ อัศวิษณุ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)



เข้าชม : 990


บทความทั่วไป 5 อันดับล่าสุด

      ข้อเสนอแนะการจัดหาและการกระจายวัคซีนโควิด-19 30 / พ.ค. / 2565
      เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า “การอ่าน” คือการเปิดประตูสู่โลกกว้าง 19 / ม.ค. / 2554
      เลี้ยงไก่ไข่ด้วยอีแวป...ทำไบโอแก๊สลดค่าใช้จ่าย 3 / ธ.ค. / 2551
      Concept คุณจะสร้างเวบเกี่ยวกับอะไร 4 / ก.พ. / 2551